หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรฯ ร่วมพิธี MOU และพิธีมอบหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง ประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย แก่หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดลำพูน จำนวน 8 หน่วยงาน

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 24 พฤศจิกายน 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 675 คน
หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรฯ ร่วมพิธี MOU และพิธีมอบหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง ประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย แก่หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดลำพูน จำนวน 8 หน่วยงาน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรการสอนและการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในนามหัวหน้าคณะผู้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง ประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา และพิธีมอบหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง ประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย พร้อมทั้งได้กล่าวถึงความสำคัญและหลักการในการนำหลักสูตรท้องถิ่นไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดลำพูน จำนวน 8 หน่วยงาน ที่จะนำหลักสูตรท้องถิ่นไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดลำพูน ให้มีสำนึกรักท้องถิ่น และเป็นพลเมืองก้าวหน้า (Pro-Active Citizen)ในพื้นที่มรดกปัญญาพุทธศาสตร์ผ่านพื้นที่ประวัติศาสตร์หริภุญชัย โดยประกอบด้วยหน่วยงานทางการศึกษาดังนี้

  1. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน
  2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน
  3. สํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำพูน
  4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1
  5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
  6. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดลำพูน
  7. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดลำพูน
  8. โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จำนวน 4 แห่ง
    1. โรงเรียนบ้านป่าแป๋
    2. โรงเรียนบ้านป่าป๋วย
    3. วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ
    4. โรงเรียนนาทรายวิทยาคม

ในการนี้ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้กล่าวขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมสำนึกรักในท้องถิ่นให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยพระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ) เจ้าคณะจังหวัดลำพูนและเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหารได้แสดงความชื่นชมยินดีที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย และช่วยส่งเสริมการจัดการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ดีงามสืบไป

โดยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในครั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการ “เครือข่ายการเรียนรู้สังคมศึกษาแบบมหาบวร” ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของมหาวิทยาลัย บ้าน(องค์กรการปกครองและชุมชน) วัด และโรงเรียน ขอขอบพระคุณทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน หน่วยงานทางการศึกษาทุกแห่ง ภาคประชาสังคม วัดและชุมชนท้องถิ่นที่ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษาเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน

ขอบพระคุณภาพจาก: องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน