ประวัติความเป็นมา

          ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาควิชาที่มีชื่อเดิมว่า “ภาควิชาระเบียบวิธีสอนและหลักสูตร” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติของสภาการศึกษาแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม 2511 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 5 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2511 โดยความรับผิดชอบของคณะศึกษาศาสตร์ที่ได้แบ่งเป็นภาควิชาตาม ความในมาตรา 8 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 
         
      
    
ในปีพุทธศักราช 2530 ภาควิชาระเบียบวิธีสอนและหลักสูตร ได้มีการปรับปรุงภาควิชาโดยอาศัยตามความในมาตรา 6 และมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2530  ประกอบด้วย ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา ภาควิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาประถมศึกษา ภาควิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา ภาควิชาพลานามัย ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา ภาควิชามัธยมศึกษา ภาควิชาส่งเสริมการศึกษา และภาควิชามัธยมศึกษา โดยได้ปรับชื่อภาควิชาระเบียบวิธีสอนและหลักสูตรเป็นชื่อ “สายวิชาหลักสูตรและการสอน” โดยอยู่ภายใต้สังกัดภาควิชามัธยมศึกษามาตั้งแต่พุทธศักราช 2530-2551
         
           
 ระยะต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 เพื่อมุ่งเน้นปรับปรุงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมและเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น4 และได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25(3) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 13/2551 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ประกาศให้มีการแบ่งหน่วยงานในส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่น (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 30  ธันวาคม 2551 ซึ่งได้หลอมรวมภาควิชาในคณะศึกษาศาสตร์ภายใต้ชื่อ “สำนักวิชาการศึกษา” และยังคงใช้ชื่อ “สายวิชาหลักสูตรและการสอน” ในสังกัดสำนักวิชา คณะศึกษาศาสตร์ มาตั้งแต่พุทธศักราช 2551-2557  ในพุทธศักราช 2557 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ฉบับที่ 12) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยได้อนุมัติให้จัดตั้ง  “ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้” อีกวาระหนึ่ง 


 

ปัจจุบันภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้ ประกอบด้วย 9 สาขาวิชา ดังนี้

1. สาขาวิชาประถมสึกษา
2. สาขาวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา
3. สาขาวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา
4. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
          1) สาขาวิชาเคมี  
          2) สาขาวิชาชีววิทยา 
          3) สาขาวิชาฟิสิกส์
5. สาขาวิชาคณิตศาสตร์
6. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
7. สาขาวิชาภาษาไทย
8. สาขาวิชาสังคมศึกษา  
9. สาขาวิชาการสอนภาษาต่างประเทศ


          การเปลี่ยนแปลงของภาควิชาตลอดระยะเวลาที่ได้มีการหลอมรวม พัฒนา และ “เปลี่ยนผ่าน” จากภาควิชาไปสู่การเป็น “สายวิชา” และฟื้นคืนสถานะมาเป็น “ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้” อีกวาระหนึ่งในปัจจุบัน  ดังนั้นพันธกิจหลักของภาควิชาที่ยังมุ่งมั่นคือการวิจัยทางด้านพัฒนาหลักสูตร นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้เพื่อสร้างครู บุคลากรทางการศึกษาที่เป็นผู้นำในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยปณิธานของภาควิชาที่ได้ดำเนินการตามพันธกิจได้ส่งผลให้ภาควิชาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อ ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงนโยบายของมหาวิทยาลัยและการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงความเข้มแข็งของคณาจารย์ทางวิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้ยังคงอยู่คู่การศึกษาเพื่อปวงชนอย่างมั่นคง

 

หลักสูตรปริญญาตรี

            1. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา (Bachelor of Education Program in Elementary Education)  
            2. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา (Bachelor of Education Program in Art Education)
            3. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ (Bachelor of Education Program in Physics)
            4. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี (Bachelor of Education Program in Chemistry)
            5. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา (Bachelor of Education Program in Biology)
            6. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (Bachelor of Education Program in Mathematics)
            7. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (Bachelor of Education Program in English)
            8. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (Bachelor of Education Program in Thai)
            9. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา (Bachelor of Education Program in Social Studies)

           

หลักสูตรปริญญาโท          

1. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษา (Master of Education Program in Education)
            1) วิชาเอกสังคมศึกษา
            2) วิชาเอกภาษาศึกษา 
2. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา (Master of Education Program in Mathematics Education)

 

หลักสูตรปริญญาเอก

1. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษา (Doctor of Philosophy Program in Education)
            1) วิชาเอกสังคมศึกษา
            2) วิชาเอกภาษาศึกษา